ยินดีต้อนรับเข้าสู่งเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพรบรมราชูปถัมภ์

กฎและข้อบังคับของ
สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Last Update: 28 August 2022

หมวดที่ 1
ข้อบังคับทั่วไป

ภาษาไทย
สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ส.ท.)

English
RADIO AMATEUR SOCIETY OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTY THE KING (R.A.S.T.)
อ่านว่า เรดิโอ อเมเจอร์ โซไซตี้ ออฟ ไทยแลนด์ อันเดอร์ เดอะ รอยัล พาโทรเนจ ออฟ ฮีส มาเจสตี้ เดอะ คิงส์

ข้อ 1. ชื่อสมาคม สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” อักษรย่อ ส.ว.ส .ท .เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “เรดิโอ อเมเจอร์ โซไซตี้ ออฟ ไทยแลนด์ อันเดอร์ เดอะ รอยัล พาโทรเนจ ออฟ ฮีส มาเจสตี้ เดอะ คิงส์” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ RADIO AMATEUR SOCIETY OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTY THE KING” อักษรย่อว่า “R.A.S.T.”

ข้อ 2. สำนักงาน สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ เลขที่ 328/19 ถนนสิรินธร แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700

ข้อ 3. เครื่องหมายสมาคม เป็นรูปแผนที่ประเทศไทย อยู่กลางวงกลมสองชั้น ภายในวงกลมชั้นนอก มีชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยอยู่ด้านบนความว่า “สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ” และมีชื่อสมาคมเป็นภาษาอังกฤษว่า “RADIO AMATEUR SOCIETY OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTY THE KING” อยู่ด้านล่าง ภายในวงกลมชั้นในมีอักษรย่อ ส.ว .ส.ท. และ RAST ประทับอยู่บน แผนที่ประเทศไทย

หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์

ข้อ 4. เป็นสมาคมของนักวิทยุสมัครเล่น มีวัตถุประสงค์เพื่อ

4.1 เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

4.2 ส่งเสริมให้สมาชิกใช้ความถี่ย่านวิทยุสมัครเล่น สร้างสรรค์ความสามัคคี และ มิตรภาพ

4.3 พัฒนาความรู้ด้านวิชาการการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุแก่สมาชิกและประชาชน

4.4 ฝึกฝนอบรมสมาชิกให้เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่มีความรู้ความชำนาญยิ่งๆขึ้นไป

4.5 เสริมสร้างประโยชน์ต่อสังคมและความปลอดภัยของประเทศชาติ

4.6 ส่งเสริมให้สมาชิกใช้วิทยุรับ–ส่งคมนาคมเป็นข่ายสื่อสารสาธารณะสำรอง ในยาม ฉุกเฉิน หรือเกิดภัยพิบัติ

4.7 เพิ่มพูนจำนวนสมาชิกให้เป็นพนักงานวิทยุสำรองไว้รับใช้สังคมและประเทศชาติ ทั้งในยามสงบและฉุกเฉิน

4.8 สร้างชื่อเสียงของสมาคมและประเทศชาติ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการวิทยุ ระหว่างประเทศ

4.9 ดำเนินการออกหนังสือข่าว

4.10 ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า การเมืองและการศาสนา

หมวดที่ 3
สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ 5. ประเภทของสมาชิก สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งสมาคมได้พิจารณาเห็นว่า ได้กระทำสิ่งที่เป็น ประโยชน์ ในกิจกรรมของสมาคมและวงการวิทยุสมัครเล่นและการเป็น สมาชิกภาพของบุคคลนั้นจะก่อให้เกิดเกียรติคุณ และความสะดวกต่อสมาคมเป็นสำคัญและคณะกรรมการได้ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิก

5.2 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่ได้รับประกาศนียบัตรเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่น ขั้นต้นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือสูงกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เทียบเท่าหรือที่สหภาพวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศ ( INTERNATIONAL AMATEUR RADIO UNION และใช้คำย่อว่า I A R U ) รับรองเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นผู้แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก และคณะกรรมการ ลงมติอนุมัติรับเข้า เป็นสมาชิก

5.3 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลนอกจากที่ได้กล่าวแล้วใน 5.1 และ 5.2 ผู้แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก และคณะกรรมการลงมติอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิก

5.4 สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ผู้แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก และคณะกรรมการลงมติอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิก

5.5 สมาชิกองค์กร ได้แก่ สมาคม ชมรม หรือกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่น แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกและคณะกรรมการลงมติอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ 6. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ( ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ) ต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมได้กำหนดไว้ ต่อนายทะเบียนของสมาคม

ข้อ 7. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้นายทะเบียนนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคราวต่อไป และเมื่อคณะกรรมการลงมติรับแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบ

ข้อ 8. ค่าธรรมเนียมสมัครเข้าและค่าบำรุงสมาคม

8.1 ค่าธรรมเนียมสมัครเข้า ผู้สมัครต้องชำระเมื่อยื่นใบสมัคร 100 บาท

8.2 ค่าบำรุง

8.2.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุง

8.2.2 สมาชิกสามัญราย 5 ปี ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 700 บาท

สมาชิกสามัญตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 2,000 บาท

8.2.3 สมาชิกวิสามัญ ชำระค่าบำรุงปีละ 100 บาท
สมาชิกวิสามัญตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 1,000 บาท

8.2.4 สมาชิกสมทบ ชำระค่าบำรุงปีละ 50 บาท

8.2.5 สมาชิกวิสามัญตลอดชีพ ที่ชำระค่ำบำรุงตำมข้อ 8.2.3 ไว้แล้ว ถ้าได้สิทธิเป็นสมาชิกสามัญตลอดชีพ ให้เพิ่มค่าบำรุงอีก 1,000 บาท

8.2.6 สมาชิกองค์กร ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 2,000 บาท

ข้อ 9. วันเริ่มสมาชิกภาพ เมื่อคณะกรรมการลงมติรับเข้าเป็นสมาชิก และชำระค่าบำรุงสมาคมเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้สมาชิกภาพ

ข้อ 10. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีต่อไปนี้

10.1 ตาย

10.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และได้ชำระหนี้สินที่ค้างชำระต่อสมาคม เรียบร้อยแล้ว

10.3 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือล้มละลาย หรือถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

10.4 คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการที่เข้าประชุมด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

10.4.1 กระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสมาคม หรือทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง

10.4.2 ละเมิดข้อบังคับของสมาคม

10.4.3 ไม่ชำระค่าบำรุงภายในสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปี โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

10.5 สมาชิกผู้ค้างชำระค่าบำรุง ให้ถือว่าความเป็นสมาชิกสิ้นไป เมื่อสมาชิกชำระค่าบำรุงที่ติดค้างแล้ว ให้มีสิทธิ์เป็นสมาชิกของสมาคมต่อไป โดยไม่ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่

หมวดที่ 4
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 11. สิทธิของสมาชิก

11.1 สมาชิกของสมาคม มีสิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทุกประเภทของสมาคม ตามกฎที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าในที่ประชุมคณะกรรมการ และมีสิทธิที่จะรับผลประโยชน์ทุกประการที่สมาคมเสนอ

11.2 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม

11.3 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะขอตรวจสอบกิจการ และทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยยื่นคำขอนั้นไปยังคณะกรรมการเป็นลายลักษณ์อักษร

11.4 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการ สมาชิกสามัญและสมาชิกองค์กรเท่านั้น มีสิทธิเสนอญัตติในการประชุมใหญ่โดยยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้าวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน

11.5 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการของสมาคม

11.6 สมาชิกองค์กร นายกสมาคมหรือผู้แทน ประธานชมรมหรือผู้แทน ประธานกลุ่ม หรือผู้แทนเท่านั้น มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และใน การเลือกตั้งกรรมการของสมาคม สิทธิของสมาคม ชมรม กลุ่ม องค์กรละ 1 เสียง ๆ ละ 1 คะแนนเท่านั้น

ข้อ 12. หน้าที่ของสมาชิก

12.1 สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่ และคำสั่งตามมติของคณะกรรมการโดยเคร่งครัด

12.2 ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ของสมาคม

12.3 ส่งเสริมเผยแพร่และสนับสนุนกิจการของสมาคม

12.4 ชำระค่าบำรุงตามกำหนด

12.5 สมาชิกจะต้องยอมรับและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม

หมวดที่ 5
คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 13. คณะกรรมการของสมาคม ให้มีคณะกรรมการของสมาคมขึ้นคณะหนึ่ง เป็นผู้บริหารงานและเป็นตัวแทนของสมาคม ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น มีจำนวนรวมกันไม่เกิน 19 คน นายกสมาคมและกรรมการจำนวนอีก 9 คน ให้เลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกสมาคม หรือกรรมการสมาคม จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ในขณะถูกเสนอชื่อ และจะต้องได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 10 คน กรรมการที่เหลืออีก 9 คนให้เป็นสิทธิของนายกสมาคมที่จะแต่งตั้งจำนวน 5 คน แล้วให้คณะกรรมการทั้งหมดร่วมกันคัดเลือกกรรมการที่จะแต่งตั้งอีกจำนวน 4 คน รวมเป็น 9 คน คณะกรรมการบริหารสมาคมทั้งสิ้นไม่เกิน 19 คน เพื่อดำรงตำแหน่งอุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน และตำแหน่งอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร นายกสมาคมและคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี นายกสมาคมและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในวาระต่อไปอีกได้

ข้อ 14. คุณสมบัติของกรรมการ กรรมการของสมาคม จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

14.1 เป็นสมาชิกสามัญ

14.2 ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำของสมาคม

14.3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

14.4 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

14.5 ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ

14.6 ไม่ดำรงตำแหน่งในสมาคมวิทยุสมัครเล่นอื่นทับซ้อนในวาระเดียวกับสมาคม

ข้อ 15. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการของสมาคมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้

15.1 ครบกำหนดออกตามวาระ

15.2 ลาออกโดยคณะกรรมการลงมติอนุมัติแล้ว

15.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 14. และขาดจากสมาชิกภาพตามข้อ 10.

15.4 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

15.5 ขาดการประชุมคณะกรรมการติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบเป็นลักษณ์อักษร

ข้อ 16. กรณีตำแหน่งว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระ ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสมาคม หรือกรรมการอื่น ว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งแทนได้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 17. การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมคณะกรรมการ อย่างน้อย 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง นายกสมาคมหรือกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน อาจเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษได้

ข้อ 18. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ การประชุมของคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงถือได้ว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 19. มติของการประชุมคณะกรรมการ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียได้อีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 20. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม หากนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประ ชุมแทน ในกรณีที่อุปนายกไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมคณะ กรรมการแต่งตั้งกรรมการ คนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมเฉพาะการประชุม ในคราวนั้น

ข้อ 21. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมีดังนี้

21.1 บริหารงานและจัดการทรัพย์สินของสมาคม ตามข้อบังคับ และมติของที่ประชุมใหญ่

21.2 เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ

21.3 วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคม

21.4 ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอนที่ปรึกษา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคม เป็นไปโดยเรียบร้อย

21.5 นายกสมาคม มีหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมกรรมการ ควบคุมกิจการของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

21.6 อุปนายก มีหน้าที่ทำการแทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคม ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และเป็นผู้ช่วยนายกสมาคม ในการปฏิบัติการใด ๆ ที่นายกสมาคมมอบหมาย

21.7 เลขาธิการ มีหน้าที่จัดการประชุมกรรมการ จัดทำรายงานการประชุม ติดต่อกับสมาชิกและบุคคลภายนอกในเรื่องทั่วไป และเป็นผู้อำนวยการในกิจการอื่นๆ ของสมาคม หรืองานที่มิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมการอื่นโดยเฉพาะ

21.8 เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมการรับจ่ายเงิน รักษาเงิน การทำบัญชีและรักษาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคม

21.9 นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและควบคุมทะเบียนสมาชิก ตลอดจนเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการเป็นสมาชิก

หมวดที่ 6
การประชุมใหญ่

ข้อ 22. การประชุมใหญ่ กำหนดการประชุมใหญ่ มีดังนี้

22.1 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

22.2 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควร หรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 100 คน แสดงความจำนงโดยยื่นหนังสือพร้อมด้วยเหตุผลต่อเลขาธิการของสมาคม ขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

ข้อ 23. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ไม่ว่าจะเป็นการประชุม ใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน และกรรมการสมาคม จำนวน 2 ใน 3 จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 24. มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด

ข้อ 25. การนัดประชุมใหญ่ คณะกรรมการ จะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ รวมทั้งเอกสารตามข้อ 29.1,29.2 และ 29.3 ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข้อ 26. การไม่ครบองค์ประชุม เมื่อถึงกำหนดเวลาการประชุม ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 27. ประธานในที่ประชุมใหญ่ ให้นายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุมแทนในกรณีที่อุปนายกไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมใหญ่คราวนั้น

ข้อ 28. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ ให้ถือปฏิบัติเป็นสองกรณี คือ

28.1 โดยเปิดเผย ให้ใช้วิธีชูมือ

28.2 การลงคะแนนลับ ให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน และจะกระทำได้ในเมื่อ คณะกรรมการและสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมร้องขอ

28.3 การออกเสียงลงคะแนนจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง สำหรับตนเองเท่านั้น และจะต้อง อยู่ร่วมในขณะและ เวลาที่ที่ประชุมลงคะแนนด้วย

ข้อ 29. กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่สามัญ กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่สามัญมีดังนี้

29.1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน

29.2 พิจารณารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี

29.3 พิจารณางบรายรับ รายจ่ายและรับรองงบดุล

29.4 แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน

29.5 เลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับ

29.6 พิจารณาเรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

หมวดที่ 7
การเงินและการบัญชี

ข้อ 30. การเงินของสมาคม การเงินของสมาคมอยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการโดยให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ในนามของสมาคม เพื่อเก็บรักษาเงินของสมาคม การจ่ายเงินของสมาคม ไม่ว่าจากบัญชีใด ๆ ต้องประทับตราสมาคมโดยมีนายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคม หรือ เลขาธิการ หรือเหรัญญิก ลงลายมือชื่อร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 2 คน โดยกำหนดให้จ่ายเงินได้ ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท(สองหมื่นบาทถ้วน) หากเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน

ข้อ 31. บัญชีการเงินและทรัพย์สิน ให้เหรัญญิกจัดให้มีบัญชีการเงิน และทรัพย์สินของสมาคม พร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการบัญชี การรับเงินทุกประเภท ต้องมีหลักฐานการรับเงิน การจ่ายเงินทุกราย ต้องมีใบสำคัญอันมีรายการและจำนวนเงินถูกต้องตามที่ได้รับอนุมัติจากนายก หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายก หลักฐานการรับจ่าย ต้องเก็บรักษาไว้ เพื่อการตรวจสอบโดยเรียบร้อยครบถ้วนเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 10 ปี เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้ในมือเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ทั้งนี้ให้คณะกรรมการวางระเบียบการเงินและทรัพย์สินของสมาคม ให้เหมาะสม รัดกุม และแถลงฐานะทางการเงินของสมาคมให้สมาชิกทราบทุก 3 เดือน

ข้อ 32. การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลปีละครั้ง และส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่เกินเดือนมกราคมของปีถัดไป แล้วมอบให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน วันประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 33. ปีการบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 เดือนธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปี ทางการบัญชีของสมาคม

ข้อ 34. อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าวข้างต้น

หมวดที่ 8
การแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 35. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่เข้าประชุม

ข้อ 36. การเลิกสมาคม สมาคมนี้จะเลิกได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

36.1 เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญผู้เข้าร่วมประชุม

36.2 เมื่อล้มละลาย

36.3 ศาลสั่งให้เลิก

36.4 นายทะเบียนผู้ควบคุมสมาคมของทางราชการ ออกคำสั่งให้ยกเลิก ขีดชื่อออกจากทะเบียน ถ้าสมาคมต้องเลิก ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมที่เหลืออยู่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันการศึกษา ตามที่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร และผู้รับจะต้องมีสภาพเป็นนิติบุคคล

ข้อ 37. การชำระบัญชี เมื่อสมาคมต้องเลิกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ตามข้อ 36.การชำระบัญชีของสมาคม ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวดที่ 9
เบ็ดเตล็ด

ข้อ 38. การลงนามในเอกสารต่างๆ ในการทำนิติกรรมใด ๆ ของสมาคม หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ตราสาร อันเป็นหลักฐานของสมาคมและการอรรถคดีนั้น เมื่อนายกสมาคม หรืออุปนายก หรือกรรมการอื่นสองนายที่คณะกรรมการมอบหมาย ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสมาคมแล้วเป็นอันใช้ได้

บทเฉพาะกาล

คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ตามข้อ 22.2 ให้พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 15.1 ในการประชุมใหญ่ตามข้อ 22.1